Close Mobile Navigation




เข้าใจมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
ซึ่งเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดหนึ่ง




โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (melanoma) เป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดที่พบได้น้อย ซึ่งอาจเป็นอันตราย มะเร็งชนิดนี้มีโอกาสที่จะรุกรานไปยังเนื้อเยื่อใกล้เคียงและแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ มะเร็งผิวหนังชนิดอื่นๆ ที่พบได้บ่อยกว่า ได้แก่ มะเร็งผิวหนังชนิดเบซัลเซลล์ (basal cell carcinoma) และมะเร็งผิวหนังชนิด สเควมัสเซลล์ (squamous cell carcinoma) มะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมาเหล่านี้ ไม่ค่อยแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

ข้อมูลด้านล่างนี้อิงจากข้อมูลต้นฉบับที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (National Cancer Institute, NCI) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลด้านการวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ข้อมูลนี้อาจช่วยให้ท่านเข้าใจเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาและสิ่งที่อาจกำลังเกิดขึ้นกับร่างกายของท่านได้ดียิ่งขึ้น และอาจช่วยในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญร่วมกับแพทย์ของท่าน





โรคมะเร็งผิวหนัง
เมลาโนมาคืออะไร



โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาเป็นโรคซึ่งเซลล์เนื้อร้าย (มะเร็ง) ก่อตัวขึ้นจากเซลล์เมลาโนไซต์ (เซลล์ที่สร้างเม็ดสีให้กับผิวหนัง) มะเร็งชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่บนผิวหนัง ในผู้ชายมักจะพบมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาบริเวณลำตัว (บริเวณตั้งแต่ไหล่ ลงมาถึงสะโพก) หรือศีรษะและคอใน
ผู้หญิง มะเร็งผิวหนังเมลาโนมามักจะเกิดขึ้นที่บริเวณแขนและขาไฝที่ผิดปกติ การสัมผัสกับแสงแดด และประวัติสุขภาพอาจส่งผลต่อความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาได้
ชาวผิวขาวหรือการที่มีผิวขาวจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา แต่ทุกคนสามารถเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมารวมทั้งคนที่มีผิวสีเข้ม





โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
ระยะต่าง ๆ



โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาแบ่งออกเป็น 5 ระยะ (stage) ตั้งแต่ระยะที่ 0 ถึง 4 โดยระยะที่ 4 เป็นระยะที่รุนแรงที่สุด ระยะต่างๆ ยังสามารถแบ่งออกเป็น ระยะย่อย (A, B, C หรือ D) อีกด้วย



โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาระยะที่ 0

ในระยะที่ 0 ตรวจพบเซลล์เมลาโนไซต์ที่ผิดปกติในชั้นหนังกำพร้า (ชั้นนอกสุดของผิวหนัง) เซลล์เมลาโนไซต์ที่ผิดปกติเหล่านี้อาจกลายเป็นมะเร็งและแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อปกติที่อยู่ใกล้เคียง มะเร็งระยะที่ 0 เรียกอีกอย่างว่า มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา ณ จุดกำเนิด (melanoma in situ)

โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาระยะที่ 1

ในระยะที่ 1 มะเร็งได้ก่อตัวขึ้นและไม่มีอาการแสดงใด ๆ ของมะเร็งนอกเนื้องอกหลัก ระยะที่ 1 แบ่งออกเป็นระยะที่ 1A และ 1B

ระยะที่ 1A

  • เนื้องอกมีความหนาไม่เกิน 1 มิลลิเมตร โดยอาจพบรอยโรคแตกเป็นแผลแล้วหรือยังไม่แตกเป็นแผล

ระยะที่ 1B

  • เนื้องอกมีความหนามากกว่า 1 มิลลิเมตร แต่ไม่เกิน 2 มิลลิเมตร โดยรอยโรคยังไม่แตกเป็นแผล

โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาระยะที่ 2

ระยะที่ 2 แบ่งออกเป็นระยะที่ 2A, 2B และ 2C
ในระยะที่ 2 มะเร็งผิวหนังเมลาโนมาไม่มีอาการแสดงใดๆ ของมะเร็งนอกเนื้องอกหลัก

ระยะที่ 2A

  • เนื้องอกมีความหนามากกว่า 1 มิลลิเมตร แต่ไม่เกิน 2 มิลลิเมตร โดยรอยโรคแตกเป็นแผลแล้ว

ระยะที่ 2B

  • เนื้องอกมีความหนามากกว่า 2 มิลลิเมตร แต่ไม่เกิน 4 มิลลิเมตร โดยรอยโรคแตกเป็นแผลแล้ว

หรือระยะที่ 2B อาจจะเป็น

  • เนื้องอกมีความหนามากกว่า 4 มิลลิเมตร โดยรอยโรคยังไม่แตกเป็นแผล

ระยะที่ 2C

  • เนื้องอกมีความหนามากกว่า 4 มิลลิเมตร โดยรอยโรคแตกเป็นแผลแล้ว

โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาระยะที่ 3

ระยะที่ 3 แบ่งออกเป็นระยะที่ 3A, 3B, 3C และ 3D

ระยะที่ 3A

  • เนื้องอกมีความหนาไม่เกิน 1 มิลลิเมตร โดยรอยโรคแตก เป็นแผลแล้ว หรือมีความหนาไม่เกิน 2 มิลลิเมตร โดยรอยโรคยังไม่แตกเป็นแผล ตรวจพบมะเร็งในต่อมนํ้าเหลือง 1 ถึง 3 ต่อม โดยการตัดชิ้นเนื้อจาก ต่อมนํ้าเหลืองแรกที่มะเร็งได้แพร่กระจายไปส่งตรวจ

ระยะที่ 3B

(1) ไม่ทราบว่ามะเร็งมีจุดกำเนิดที่ใด หรือไม่สามารถมองเห็นเนื้องอกปฐมภูมิได้อีกต่อไป และเป็นไปตามข้อใด ข้อหนึ่งต่อไปนี้

  • ตรวจพบมะเร็งในต่อมนํ้าเหลือง 1 ต่อมโดยการตรวจร่างกายหรือการตรวจด้วยการถ่ายภาพ หรือ
  • มีเนื้องอกกลุ่มเล็กๆ ลามไปผิวหนังข้างเคียง (microsatellite tumor), มีเนื้องอกที่ลามไปผิวหนังข้างเคียง (satellite tumor) และ/หรือมีเนื้องอกกำลังลุกลาม (in-transit metastase) บนหรือใต้ผิวหนัง (คำศัพท์เหล่านี้ หมายถึง เซลล์เนื้องอกกลุ่มเล็กๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับเนื้องอกแรกเริ่ม หรือกำลังเติบโตในบริเวณระหว่าง เนื้องอกแรกเริ่มกับต่อมนํ้าเหลือง)

หรือระยะที่ 3B อาจจะเป็น

(2) เนื้องอกมีความหนาไม่เกิน 1 มิลลิเมตร โดยรอยโรคแตกเป็นแผลแล้วหรือยังไม่แตกเป็นแผล หรือมีความหนา ไม่เกิน 2 มิลลิเมตร โดยรอยโรคยังไม่แตกเป็นแผล และตรงกับข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

  • ตรวจพบมะเร็งในต่อมนํ้าเหลือง 1 ถึง 3 ต่อม หรือ
  • มีเนื้องอกกลุ่มเล็กๆ ลามไปผิวหนังข้างเคียงเนื้องอกที่ลามไปผิวหนังข้างเคียง และ/หรือกำลังลุกลามบนหรือใต้ผิวหนัง

หรือระยะที่ 3B อาจจะเป็น

(3) เนื้องอกมีความหนาเกิน 1 มิลลิเมตร แต่ไม่เกิน 2 มิลลิเมตร โดยรอยโรคแตกเป็นแผลแล้ว หรือมีความหนาเกิน 2 มิลลิเมตร แต่ไม่เกิน 4 มิลลิเมตร โดยรอยโรคยังไม่แตกเป็นแผล และตรงกับข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

  • ตรวจพบมะเร็งในต่อมนํ้าเหลือง 1 ถึง 3 ต่อม หรือ
  • มีเนื้องอกกลุ่มเล็กๆ ลามไปผิวหนังข้างเคียง เนื้องอกที่ลามไปผิวหนังข้างเคียง และ/หรือกำลังลุกลามบนหรือใต้ผิวหนัง

ระยะที่ 3C

(1) ไม่ทราบว่ามะเร็งมีจุดกำเนิดที่ใด หรือไม่สามารถมองเห็นเนื้องอกปฐมภูมิได้อีกต่อไป พบมะเร็ง:

  • ในต่อมนํ้าเหลือง 2 หรือ 3 ต่อม หรือ
  • ในต่อมน้ำเหลือง 1 ต่อม และมีเนื้องอกกลุ่มเล็กๆ ลามไปผิวหนังข้างเคียง เนื้องอกที่ลามไปผิวหนังข้างเคียง และ/หรือกำลังลุกลามบนหรือใต้ผิวหนัง หรือ
  • ในต่อมนํ้าเหลือง 4 ต่อมขึ้นไป หรือในต่อมนํ้าเหลืองจำนวนใดๆ ก็ตามที่มีลักษณะรวมกลุ่มกัน (จับตัวกัน) หรือ
  • ในต่อมนํ้าเหลือง 2 ต่อมขึ้นไป และ/หรือในต่อมนํ้าเหลืองจำนวนใดๆ ก็ตามที่มีลักษณะรวมกลุ่มกัน และ มีเนื้องอกกลุ่มเล็กๆ ลามไปผิวหนังข้างเคียง เนื้องอกที่ลามไปผิวหนังข้างเคียง และ/หรือกำลังลุกลามบนหรือใต้ผิวหนัง

หรือระยะที่ 3C อาจจะเป็น

(3) เนื้องอกมีความหนามากกว่า 2 มิลลิเมตร แต่ไม่เกิน 4 มิลลิเมตร โดยรอยโรคแตกเป็นแผลแล้ว หรือมีความหนามากกว่า 4 มิลลิเมตร โดยรอยโรคยังไม่แตกเป็นแผล ตรวจพบมะเร็งในต่อมนํ้าเหลือง 1 ต่อมขึ้นไป และ/หรือในต่อมนํ้าเหลืองจำนวนใดๆ ก็ตามที่มีลักษณะรวมกลุ่มกัน และอาจมีเนื้องอกกลุ่มเล็กๆลามไปผิวหนังข้างเคียง เนื้องอกที่ลามไปผิวหนังข้างเคียง และ/หรือกำลังลุกลามบนหรือใต้ผิวหนัง

หรือระยะที่ 3C อาจจะเป็น

(4) เนื้องอกมีความหนามากกว่า 4 มิลลิเมตร โดยรอยโรคแตกเป็นแผลแล้ว และ

  • ตรวจพบมะเร็งในต่อมนํ้าเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง 1 ต่อมขึ้นไป และหรือ
  • มีเนื้องอกกลุ่มเล็ก ๆ ลามไปผิวหนังข้างเคียง เนื้องอกที่ลามไปผิวหนังข้างเคียง และ/หรือกำลังลุกลามบนหรือใต้ผิวหนัง

ระยะที่ 3D

เนื้องอกมีความหนามากกว่า 4 มิลลิเมตร โดยรอยโรคแตกเป็นแผลแล้ว พบมะเร็ง:

  • ในต่อมนํ้าเหลือง 4 ต่อมขึ้นไป หรือในต่อมนํ้าเหลืองจำนวนใดๆ ก็ตามที่มีลักษณะรวมกลุ่มกัน หรือ
  • ในต่อมนํ้าเหลือง 2 ต่อมขึ้นไป และ/หรือในต่อมนํ้าเหลืองจำนวนใดๆ ก็ตามที่มีลักษณะรวมกลุ่มกัน และ มีเนื้องอกกลุ่มเล็กๆ ลามไปผิวหนังข้างเคียง เนื้องอกที่ลามไปผิวหนังข้างเคียง และ/หรือกำลังลุกลามบนหรือใต้ผิวหนัง

โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาระยะที่ 4

ในระยะที่ 4 มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ปอด ตับ สมอง ไขสันหลังกระดูก เนื้อเยื่ออ่อน
(รวมถึงกล้ามเนื้อ) ทางเดินอาหาร และ/หรือต่อมนํ้าเหลืองที่อยู่ห่างออกไป มะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังบริเวณต่าง ๆ บนผิวหนังที่อยู่ห่างจากจุดกำเนิดของมะเร็ง





บทความอื่นๆ


การมีส่วนร่วมในการเลือกวิธีการรักษา


เรียนรู้เกี่ยวกับชนิดของมะเร็งปอด
อาการ การวินิจฉัย และการรักษา




TH-OOC-00002 10/2023


ความร่วมมือ