Close Mobile Navigation

ภูมิคุ้มกันบำบัด
IMMUNOTHERAPY



ภูมิคุ้มกันบำบัด
คืออะไร



เป็นหนึ่งในวิธีการรักษามะเร็ง โดยใช้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง โดยปกติเซลล์มะเร็งจะมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถขัดขวางการทำงานปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ในร่างกาย ทำให้เซลล์มะเร็งไม่ถูกทำลาย สามารถเติบโต และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ยาภูมิคุ้มกันบำบัดจะออกฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถตรวจจับ และทำลายเซลล์มะเร็งที่เป็นสิ่งแปลกปลอมได้โดยตรง ทำให้สามารถควบคุมเซลล์มะเร็งในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ก้อนมะเร็งยุบลง คนไข้มีระยะเวลาปลอดโรคที่ยาวนานมากขึ้น รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น





การทำงานของระบบ
ภูมิคุ้มกันของร่างกาย



ในภาวะปกติระบบภูมิคุ้มกันมีความสามารถในแยกแยะและจดจำว่าเซลล์ใด เป็นเซลล์ปกติเมื่อพบเซลล์แปลกปลอมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น ไวรัส, แบคทีเรียภูมิคุ้มกันที่อยู่ใกล้เคียงสิ่งแปลกปลอมนั้นจะถูกกระตุ้นให้แจ้งระบบภูมิคุ้มกัน ด่านแรกให้มาช่วยกันกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นหลังจากนั้นระบบภูมิคุ้มจะสามารถจดจำสิ่งแปลกปลอมได้อย่างจำเพาะเจาะจงเพื่อให้ร่างกายสามารถกำจัดในครั้งหน้าได้ดียิ่งขึ้น







เซลล์มะเร็งมีคุณสมบัติพิเศษสามารถหลบซ่อนจากการตรวจพบของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้หรือบางครั้งที่ระบบภูมิคุ้มกันตรวจพบเซลล์มะเร็ง ระบบภูมิคุ้มกัน ก็แข็งแกร่งไม่พอที่จะกำจัดเซลล์มะเร็งนั้นๆ





ยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่ปัจจุบันนิยมนำมาใช้ในการรักษามะเร็ง คือ ยากลุ่มยับยั้งการทำงานที่อิมมูนเช็คพอยต์ (Immune checkpoint inhibitors) มีคุณสมบัติเป็นโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibodies)

โดยปกติระบบภูมิคุ้มกันจะมีเช็คพอยต์เป็นกลไกการควบคุมให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายหยุดทำลายสิ่งแปลกปลอม หรือหยุดการทำลายเซลล์ของร่างกายเพื่อให้มีความสมดุลระหว่างความสามารถในการทำลายเซลล์แปลกปลอม และไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงทำลายเซลล์ปกติของร่างกาย






การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย





ในภาวะปกติระบบภูมิคุ้มกันมีความสามารถในแยกแยะและจดจำว่าเซลล์ใด เป็นเซลล์ปกติเมื่อพบเซลล์แปลกปลอมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น ไวรัส, แบคทีเรียภูมิคุ้มกันที่อยู่ใกล้เคียงสิ่งแปลกปลอมนั้นจะถูกกระตุ้นให้แจ้งระบบภูมิคุ้มกัน ด่านแรกให้มาช่วยกันกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้น หลังจากนั้นระบบภูมิคุ้มจะสามารถจดจำสิ่งแปลกปลอมได้อย่างจำเพาะเจาะจงเพื่อให้ร่างกายสามารถกำจัดในครั้งหน้าได้ดียิ่งขึ้น





ยาภูมิคุ้มกันบำบัดใช้ในการรักษามะเร็งชนิดใด?


การศึกษาวิจัยพัฒนาต่อเนื่องในเรื่องของยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มการทำงานของภูมิคุ้มกันร่างกาย โดยพบว่ายาหลายชนิดมีประสิทธิภาพดีในการรักษาโรคมะเร็งและมีความปลอดภัย จึงได้รับการอนุญาตให้ใช้รักษาทางคลินิกในปัจจุบัน โดยสามารถใช้เป็นการรักษาเดี่ยว หรือให้ร่วมกับการรักษาอื่น เช่น การผ่าตัด เคมีบำบัด การฉายรังสี หรือยามุ่งเป้า ขึ้นกับมะเร็งแต่ละชนิด


ปัจจุบันมีการนำยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immune checkpoint inhibitors) มารักษาโรคมะเร็ง เช่น

  • มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
  • มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก
  • มะเร็งศีรษะและคอ
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • มะเร็งเยื่อบุทางเดินปัสสาวะ
  • มะเร็งตับ
  • มะเร็งไต
  • มะเร็งที่มี Microsatellite instability สูง (MSI-H cancer)
  • มะเร็งหลอดอาหาร
  • มะเร็งปากมดลูก
  • มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
  • มะเร็งกระเพาะอาหาร
  • มะเร็งลำไส้
  • มะเร็งที่มีการกลายพันธุ์ของยีนพันธุกรรมสูง Tumor Mutational Burden-High Cancer (TMB-H)
  • มะเร็งเต้านมชนิด Triple-negative (TNBC)






ยาในกลุ่มนี้ปัจจุบันถือเป็นความหวัง และทางเลือกใหม่ในการรักษามะเร็ง โดยมีจุดเริ่มต้นจากการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษามะเร็งระยะแพร่กระจาย (มะเร็งระยะที่ 4) เทียบกับการรักษาแบบดั้งเดิมโดยส่วนใหญ่ คือ เคมีบำบัด และพบว่าการรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด ไม่ว่าจะใช้เป็นตัวเดี่ยวในผู้ป่วยที่มีการแสดงออกของ PD-L1 สูง หรือร่วมกับเคมีบำบัดหรือการรักษามุ่งเป้าตัวอื่นในผู้ป่วยอื่นที่ไม่มีการแสดงออกของตัวทำลายประสิทธิภาพของยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่สูงผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการรักษาเพิ่มด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัดทำให้ผู้ป่วยมีการตอบสนองที่ดีขึ้น ก้อนยุบลงได้มากและนานขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอายุที่ยาวนานมากขึ้น จนมาถึงยุคปัจจุบันมีการศึกษาในการนำยาภูมิคุ้มกันบำบัด มาใช้ในระยะมะเร็งก่อนลุกลาม เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำภายหลังการผ่าตัดหรือให้ยา รวมถึงการใช้ในการลดขนาดก้อนมะเร็งก่อนการผ่าตัดในมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม เป็นต้น





ยาภูมิคุ้มกันบำบัด
ที่ยับยั้งการทำงานที่อิมมูนเช็คพอยต์
มีผลข้างเคียงอย่างไร


แม้ผลข้างเคียงต่อร่างกายของยากลุ่มนี้จะค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับการรักษาแบบดั้งเดิม หรือการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเนื่องจากอาศัยการทำงานของภูมิคุ้มกันของร่างกายในการทำลายมะเร็งได้เจาะจง อย่างไรก็ตาม ยังสามารถเกิด อาการข้างเคียงขึ้นได้ เช่น ผื่นผิวหนัง อ่อนเพลีย ภาวะไทรอยด์ ฮอร์โมนต่ำ หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน คลื่นไส้ อาเจียน ปอดอักเสบ ไอ หายใจลำบาก ปวดหัว ปวดข้อ เป็นต้น





*** มะเร็งเป็นโรคที่มีอาการ และลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ***
เพื่อการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้มากที่สุด







คำถามที่พบบ่อย


1.ภูมิคุ้มกันบำบัด แตกต่างจากเคมีบำบัดอย่างไร
เคมีบำบัดเป็นการให้ยาที่มีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจมีผลให้เซลล์ปกติของร่างกายถูกทำลาย ก่อให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน ส่วนภูมิคุ้มกันบำบัดเป็นการกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดขาวสามารถกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างตรงจุด ทำให้คนไข้มีระยะเวลาปลอดโรคได้นานมากยิ่งขึ้น

2.ภูมิคุ้มกันบำบัด สามารถใช้เป็นยาหลักในการรักษามะเร็งได้หรือไม่?
ปัจจุบันยาภูมิคุ้มกันบำบัดถือเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษามะเร็ง ที่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์ จากงานวิจัยพบว่ายาภูมิคุ้มกันบำบัด สามารถใช้เป็นยาหลักหรือยาเดี่ยวในการรักษามะเร็ง หรือใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการฉายแสง ยาเคมีบำบัด หรือยามุ่งเป้า เพื่อให้ทำงานร่วมกันในการฆ่าเซลล์มะเร็งได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้การเลือกใช้ยาจะแตกต่างกันไปตามประเภทของเซลล์มะเร็งแต่ละชนิด






บทความโดย
ผศ.พญ. เอื้อมแข สุขประเสริฐ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น



เอกสารอ้างอิง
1.Immunology 101. (n.d.). UCIR. Retrieved April 4, 2023, from https://www.ucir.org/immunology-101/ what_is_cancer_immunotherapy
2.Treating Cancer with Immunotherapy | Types of Immunotherapy. (2019, December 27). American Cancer Society. Retrieved March 31, 2023, from https://www.cancer.org/cancer/managingcancer/trement-types/immunotherapy/what-is-immunotherapy.html
3.Esmo. (2017, December 7. Patient guide on immunotherapy side effects. ESMO. Retrieved March 15, 2023, from https://www.esmo.org/for-patients/patient-guides/immunotherapy-side-effects





บทความอื่นๆ


การมีส่วนร่วมในการเลือกวิธีการรักษา


เรียนรู้เกี่ยวกับชนิดของมะเร็งปอด
อาการ การวินิจฉัย และการรักษา




TH-KEY-01160 10/2023


ความร่วมมือ