Close Mobile Navigation




เข้าใจมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง

ข้อมูลในหน้านี้อาจช่วยให้ท่านเข้าใจเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง รวมถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับร่างกายของท่านได้ดียิ่งขึ้นและอาจช่วยในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญร่วมกับแพทย์ของท่าน





โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
และลำไส้ตรงคืออะไร



โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงเกิดขึ้นเมื่อเซลล์มะเร็งก่อตัวขึ้นในเนื้อเยื่อของลำไส้หรือลำไส้ตรง ซึ่งเป็น 2 ส่วนของระบบย่อยอาหารของร่างกาย มะเร็งเหล่านี้ยังเรียกอีกอย่างว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งลำไส้ตรง ขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งมีจุดกำเนิดที่ส่วนใด เนื่องจากมะเร็งทั้งคู่มีลักษณะ หลายอย่างร่วมกัน

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงมักเริ่มเกิดขึ้นในรูปของเนื้องอกภายในลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรง เนื้องอกเหล่านี้เรียกว่า ติ่งเนื้อ เมื่อเวลาผ่านไป ติ่งเนื้อบางส่วนสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็ง ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงจะเพิ่มขึ้นหลังจากอายุ 50 ปี ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยหลังจากอายุ 50 ปี การมีพ่อ แม่ พี่ชายหรือน้องชาย พี่สาวหรือน้องสาว หรือลูกที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง จะทำให้คนนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเสียชีวิตจากโรคนี้เมื่อเทียบกับเชื้อชาติอื่น





ชนิดของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง

อะดีโนคาร์ซิโนมา (adenocarcinoma) คือ ชนิดของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงที่พบบ่อยที่สุด อะดีโนคาร์ซิโนมาเกิดขึ้นในเซลล์ที่สร้างเมือกซึ่งหล่อลื่นชั้นด้านในของลำไส้ใหญ่ หรือลำไส้ตรง หากท่านได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มีความเป็นไปได้สูง ที่จะเป็นชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา

ยังมีเนื้องอกชนิดอื่นๆ ที่พบได้น้อยกว่าที่มีจุดกำเนิด/เกิดขึ้นที่ลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรง ได้แก่

  • เนื้องอกจิสต์ (gastrointestinal stromal tumor, GIST) เป็นมะเร็งที่มีจุดกำเนิดในเซลล์ชนิดพิเศษภายในผนังของลำไส้ใหญ่
  • เนื้องอกคาร์ซินอยด์ (carcinoid tumor) เป็นมะเร็งที่มีจุดกำเนิดในเซลล์ที่สร้างฮอร์โมนภายในลำไส้เล็ก
  • มะเร็งต่อมนํ้าเหลือง (lymphoma) เป็นมะเร็งที่มีจุดกำเนิดในต่อมนํ้าเหลืองเป็นส่วนใหญ่ แต่สามารถเกิดขึ้นในลำไส้ใหญ่ ลำไส้ตรง หรืออวัยวะอื่นๆ ได้อีกด้วย
  • มะเร็งซาร์โคมา (sarcoma) เป็นมะเร็งที่มีจุดกำเนิดในหลอดเลือด ชั้นกล้ามเนื้อ หรือเนื้อเยื่อ เกี่ยวพันอื่นๆ ในผนังของลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรง




ระยะต่างๆ ของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง



ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (National Cancer Institute, NCI)

ข้อมูลด้านล่างนี้อิงจากข้อมูลต้นฉบับที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลด้านการวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ใช้ข้อมูลนี้เพื่อพูดคุยกับแพทย์ของท่านเกี่ยวกับระยะของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงที่ท่านเป็นอยู่

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงแบ่งออกเป็น 5 ระยะ (stage) ตั้งแต่ระยะที่ 0 ถึง 4 โดยระยะที่ 4 เป็นระยะที่รุนแรงที่สุด บางระยะ ยังสามารถแบ่งออกเป็นระยะย่อย (A, B หรือ C) อีกด้วย


โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงระยะที่ 0

ในระยะที่ 0 ตรวจพบเซลล์ที่ผิดปกติในเยื่อเมือก (mucosa) (ชั้นในสุด) ของผนังลำไส้ใหญ่ หรือลำไส้ตรง เซลล์ที่ผิดปกติเหล่านี้อาจกลายเป็นมะเร็งและแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อปกติ ที่อยู่ใกล้เคียง มะเร็งระยะที่ 0 เรียกอีกอย่างว่า มะเร็ง ณ จุดกำเนิด (carcinoma in situ)

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงระยะที่ 1

ในมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงระยะที่ 1 มะเร็งได้ก่อตัวขึ้นในเยื่อเมือก (mucosa) (ชั้นในสุด) ของผนังลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรง และได้แพร่กระจายไปยังชั้นใต้เยื่อเมือก (submucosa) (ชั้นของเนื้อเยื่อที่อยู่ถัดจากเยื่อเมือก) หรือชั้นกล้ามเนื้อของผนังลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรง

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงระยะที่ 2

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงระยะที่ 2 แบ่งออกเป็นระยะที่ 2A, 2B และ 2C

ในระยะที่ 2A

  • มะเร็งได้แพร่กระจายผ่านชั้นกล้ามเนื้อของผนังลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรงไปยังชั้นซีโรซา (serosa) (ชั้นนอกสุด) ของผนังลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรง

ในระยะที่ 2B

  • มะเร็งได้แพร่กระจายผ่านชั้นซีโรซา (serosa) (ชั้นนอกสุด) ของผนังลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรง ไปยังเนื้อเยื่อบุผิวของอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้อง (เยื่อบุที่หุ้มผิวด้านนอกของอวัยวะภายในช่องท้อง)

ในระยะที่ 2C

  • มะเร็งได้แพร่กระจายผ่านชั้นซีโรซา (serosa) (ชั้นนอกสุด) ของผนังลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรงไปยังอวัยวะใกล้เคียง

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงระยะที่ 3

ระยะที่ 3 แบ่งออกเป็นระยะที่ 3A, 3B และ 3C

ในระยะที่ 3A

  • มะเร็งได้แพร่กระจายผ่านชั้นเยื่อเมือก (mucosa) (ชั้นในสุด) ของผนังลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรงไปยังชั้นใต้เยื่อเมือก (submucosa) (ชั้นของเนื้อเยื่อที่อยู่ถัดจากเยื่อเมือก) หรือไปยังชั้นกล้ามเนื้อของผนังลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรง มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง 1 ถึง 3 ต่อม หรือเซลล์มะเร็งได้ก่อตัวขึ้นในเนื้อเยื่อใกล้กับต่อมนํ้าเหลือง

หรือระยะที่ 3A อาจจะเป็น

  • มะเร็งได้แพร่กระจายผ่านชั้นเยื่อเมือก (mucosa) (ชั้นในสุด) ของผนังลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรงไปยังชั้นใต้เยื่อเมือก (submucosa) (ชั้นของเนื้อเยื่อที่อยู่ถัดจากเยื่อเมือก) มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง 4 ถึง 6 ต่อม

ในระยะที่ 3B

  • มะเร็งได้แพร่กระจายผ่านชั้นกล้ามเนื้อของผนังลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรงไปยังชั้นซีโรซา (serosa) (ชั้นนอกสุด) ของผนังลำไส้ตรง หรือแพร่กระจายผ่านชั้นซีโรซา (serosa) ไปยังเนื้อเยื่อบุผิวของอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้อง (เยื่อบุที่หุ้มผิวด้านนอกของอวัยวะภายในช่องท้อง) มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง 1 ถึง 3 ต่อม หรือเซลล์มะเร็งได้ก่อตัวขึ้นในเนื้อเยื่อใกล้กับต่อมนํ้าเหลือง

หรือระยะที่ 3B อาจจะเป็น

  • มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังชั้นกล้ามเนื้อหรือชั้นซีโรซา (serosa) (ชั้นนอกสุด) ของผนังลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรง มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง 4 ถึง 6 ต่อม

หรือระยะที่ 3B อาจจะเป็น

  • มะเร็งได้แพร่กระจายผ่านชั้นเยื่อเมือก (mucosa) (ชั้นในสุด) ของผนังลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรงไปยังชั้นใต้เยื่อเมือก (submucosa) (ชั้นของเนื้อเยื่อที่อยู่ถัดจากเยื่อเมือก) หรือไปยังชั้นกล้ามเนื้อของผนังลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรง มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง 7 ต่อมขึ้นไป

ในระยะที่ 3C

  • มะเร็งได้แพร่กระจายผ่านชั้นซีโรซา (serosa) (ชั้นนอกสุด) ของผนังลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรง ไปยังเนื้อเยื่อบุผิวของอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้อง (เยื่อบุที่หุ้มผิวด้านนอกของอวัยวะภายในช่องท้อง) มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง 4 ถึง 6 ต่อม

หรือระยะที่ 3C อาจจะเป็น

  • มะเร็งได้แพร่กระจายผ่านชั้นกล้ามเนื้อของผนังลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรงไปยังชั้นซีโรซา (serosa) (ชั้นนอกสุด) ของผนังลำไส้ตรง หรือแพร่กระจายผ่านชั้นซีโรซา (serosa) ไปยังเนื้อเยื่อบุผิวของอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้อง (เยื่อบุที่หุ้มผิวด้านนอกของอวัยวะภายในช่องท้อง) มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง 7 ต่อมขึ้นไป

หรือระยะที่ 3C อาจจะเป็น

  • มะเร็งได้แพร่กระจายผ่านชั้นซีโรซา (serosa) (ชั้นนอกสุด) ของผนังลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรงไปยังอวัยวะใกล้เคียง มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง 1 ต่อมขึ้นไป หรือเซลล์มะเร็งได้ก่อตัวขึ้นในเนื้อเยื่อใกล้กับต่อมนํ้าเหลือง

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงระยะที่ 4

ระยะที่ 4 แบ่งออกเป็นระยะที่ 4A, 4B และ 4C

ในระยะที่ 4A

  • มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังบริเวณอวัยวะอื่น 1 ตำแหน่ง ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้ลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรง เช่น ตับ ปอด รังไข่ หรือต่อมนํ้าเหลืองที่อยู่ห่างออกไป

ในระยะที่ 4B

  • มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังบริเวณอวัยวะอื่นมากกว่า 1 ตำแหน่ง ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้ลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรง เช่น ตับ ปอด รังไข่ หรือต่อมนํ้าเหลืองที่อยู่ห่างออกไป

ในระยะที่ 4C

  • มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อบุผิวของผนังช่องท้องและอาจแพร่กระจายไปยังบริเวณอวัยวะอื่นๆ




บทความอื่นๆ


การมีส่วนร่วมในการเลือกวิธีการรักษา


เรียนรู้เกี่ยวกับชนิดของมะเร็งปอด
อาการ การวินิจฉัย และการรักษา




TH-KEY-01133 10/2023


ความร่วมมือ